ทั่วไป

พืชพรรณสมุนไพรพื้นบ้าน

1.1 ความรู้เกี่ยวกับลักษณะพืชสมุนไพร

ลักษณะพืชสมุนไพร มีลักษณะที่สังเกตได้ชัดเจน ดังนี้

(พิรมน การย์กุลวิทิต, ทักษอร  ศรีสัง  ขจร,กานดา แจ่มจำรัส (2562)

 

 

1.2 ราก

ราก คือ ส่วนที่งอกต่อจากต้นลงไปใต้ดิน มีหน้าที่ สะสมและดูดซึมอาหารมาเลี้ยงต้นพืช  ยังยึดและค้ำจุนต้นพืชอีกด้วย รากต้นพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ รูปร่างและลักษณะของรากแบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ 1)  ระบบรากแก้ว มักพบในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น คูณ ขี้เหล็ก เป็นต้น  2)  ระบบรากฝอย มักพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ตะไคร้   หญ้าคา  เป็นต้น

 

 

 

1.3 ลำต้น

ลำต้น  เป็นโครงค้ำที่สำคัญของพืช ปกติอยู่เหนือผิวดิน หรืออาจมีบางส่วนอยู่ใต้ดิน      มีข้อ ปล้อง ใบ หน่อและดอก มีหน้าที่  ลำเลียงอาหารค้ำจุนและสะสมอาหารให้ต้นพืช  ลำต้นพืชหลายชนิดเป็นยาสมุนไพร เช่น ขี้เหล็ก แคบ้าน บอระเพ็ด  ตะไคร้  มะขาม เป็นต้น ลำต้น          แบ่งตามลักษณะภายนอกลำต้นออกเป็น 4  ประเภท ดังนี้

  • ไม้ยืนต้น  เป็นไม้ที่ขึ้นตรงและสูงใหญ่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลำต้นชัดเจนแบ่ง     กิ่งก้านแผ่ออกไป  เช่น ยอ คูน เป็นต้น
  • ไม้พุ่ม  มีลำต้นไม่ชัดเจน สามารถแบ่งกิ่งตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้นขึ้นไป เช่น ทองพันชั่ง มะนาว ชุมเห็ดเทศ  เป็นต้น
  • หญ้า มีลักษณะเดียวกับหญ้าทั่วไป ใบมีลักษณะอ่อนเหนียว  เช่น หญ้าคา      หญ้าแห้วหมู เป็นต้น
  • ไม้เลื้อย  มีลักษณะเลื้อยพันคดเคี้ยว โดยใช้ส่วนของพืชยึดเกาะ เช่น หนวด หนาม เป็นต้น เนื้อไม้บางชนิดแข็ง บางชนิดอ่อนเหมือนหญ้า เช่น ฟักทอง บอระเพ็ด มะแว้งเครือ  เล็บมือนาง เป็นต้น

 

 1.4 ใบ

ใบ  เป็นส่วนประกอบสำคัญของพืช  มีหน้าที่สังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร  แลกเปลี่ยนน้ำและอากาศของต้นพืช ลักษณะส่วนใหญ่ใบพืชมีสีเขียวจากสารคลอโรฟิลล์  ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร กระเพรา ชุมเห็ดเทศ ฝรั่ง มะขามแขก เป็นต้น  ชนิดของใบแบ่งได้ 2 แบบ คือ  1) แบบใบเดี่ยว คือ ก้านใบอันหนึ่งมีเพียงใบเดียว เช่น กระวาน กานพลู ยอ เป็นต้น   2)  แบบใบประกอบ คือ ใบตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปเกิดขึ้นบนก้านเดียวกัน เช่น มะขามแขก      แคบ้าน ขี้เหล็ก เป็นต้น

  • ดอก

ดอก  เป็นส่วนสำคัญในการแพร่พันธุ์พืช มีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ดอกต้นไม้หลายชนิดใช้เป็นยาได้ เช่น กานพลู  ชุมเห็ดเทศ พิกุล  ดอกคำฝอย  เป็นต้น

 

1.5 ผล

ผล  คือ ส่วนของพืชที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน หรือคนะละดอก  มีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช  ผลของต้นไม้ที่ใช้เป็นยาได้ เช่น มะเกลือ ดีปลี มะแว้งต้น กระวาน เป็นต้น  ลักษณะของผลแบ่งเป็น 3  ประเภท  คือ                 1) ผลเดี่ยว คือ ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียว เช่น ฝรั่ง  เมล็ดข้าว เมล็ดทานตะวัน  เป็นต้น                   2)  ผลกลุ่ม  คือผลที่เกิดจากดอกเดี่ยวที่มีหลายรังไข่รวมกัน เช่น น้อยหน่า เป็นต้น   3)  ผลรวม คือ ผลที่เกิดจากดอกหลายดอก  เช่น สับปะรด ขนุน เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งผลเป็น 3 แบบ คือ ผลเนื้อ ผลแห้งชนิดแตก และผลแห้งชนิดไม่แตกอีกด้วย  และยังมีเมล็ดภายในผลที่ใช้เป็นยาได้ เช่น สะแก  ฟักทอง  เป็นต้น

 

  1. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดชนิดของสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยจัดแบ่งตามระบบร่างกายออกเป็น 5  ระบบ  มีรายละเอียดดังนี้  1.ระบบทางเดินอาหาร 2.ระบบทางเดินหายใจ 3.ระบบทางเดินปัสสาวะ 4.ระบบผิวหนัง 5.ระบบอื่นๆ

 

 

สมุนไพรที่ใช้รักษาระบบทางเดินอาหาร

สมุนไพรที่ใช้สำหรับรักษาโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย   7   โรค คือ

  1. โรคกระเพาะอาหาร สมุนไพรที่ใช้ได้แก่
  • ขมิ้นชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma longo Linn.

ส่วนที่ใช้ คือ  เหง้าแห้งหรือสด  มีสารเคอร์คิวมิน ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งmucin  ออกมาเคลือบกระเพาะอาหาร มีผลช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหารได้  นอกจากนี้ขมิ้นชัน ยังใช้บรรเทาอาการท้องอืด      จุกเสียด แน่นเฟ้อ  อาหารไม่ย่อยได้ด้วย

วิธีใช้ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1  กรัม วันละ 4  ครั้ง            หลังอาหารและก่อนนอน

ข้อควรระวัง  ระวังการใช้ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์  และการใช้ร่วมกับยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดและยารักษามะเร็งบางชนิด  ห้ามใช้ในผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดตัน           หากมีอาการแพ้ เช่น มีผื่น ลมพิษ บวม คันตามปากและลำคอ หายใจลำบาก ควรหยุดยาทันที  และรีบไปพบแพทย์

ภาพที่  1  ขมิ้นชัน

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  • กล้วยน้ำว้า

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Musa sapientum L.

ส่วนที่ใช้ คือ ผลดิบหรือห่าม มีรสฝาด  สรรพคุณ ฤทธิ์ฝาดสมาน  ในกล้วยดิบมีสารแทนนินมาก  จะช่วยรักษาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงได้ และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้

วิธีใช้   ใช้กล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานครั้งละ ½ – 1 ผล  หรือใช้        กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงชงน้ำดื่มครั้งละ ½ – 1 ผล  หรือบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทาน ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง

ข้อควรระวัง  รับประทานแล้วอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ ป้องกันได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลม เช่น น้ำขิง เป็นต้น

ภาพที่ 2  กล้วยน้ำว้า

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  1. ท้องผูก สมุนไพรที่ใช้ได้แก่
    • ชุมเห็ดเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Classia alata L.

ส่วนที่ใช้  ใบสดหรือแห้ง  ดอกสด รสเบื่อเอี่ยน ใช้รักษาท้องผูก แก้โรคผิวหนังและกลากเกลื้อน

วิธีใช้   ใช้ดอกสด 1  ช่อ ต้มรับประทาน หรือใบย่อยสด 12 ใบหั่น      ตากแดดนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม หรือนำใบตากแดดให้แห้งแล้วบดเป็นผง นำมาบรรจุถุงชา ก่อนดื่มให้นำมาแช่น้ำร้อนนาน 10 นาที ดื่มก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการ

ภาพที่ 3  ชุมเห็ดเทศ

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  • เมล็ดแมงลัก

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ocimum bassillicum Linn.

ส่วนที่ใช้  เมล็ดแก่  เมื่อแช่น้ำแล้วจะพองออกเป็นเยื่อเมือกขาว เม็ดโตขึ้น เมือกขาวทำให้ลื่น อุจจาระไม่เกาะลำไส้ จะช่วยให้ถ่ายอุจจาระสะดวกขึ้น

วิธีใช้   ใช้เมล็ดแมงลัก 1-2 ช้อนชา ล้างน้ำให้สะอาดแช่น้ำอุ่น 1  แก้ว จนพองตัวเต็มที่  รับประทานก่อนนอน

ภาพที่ 4  เมล็ดแมงลัก

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  1. ท้องเสีย สมุนไพรที่ใช้ได้แก่
    • ฝรั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Psidium guajava Linn.

ส่วนที่ใช้  ใบแก่สด หรือลูกอ่อน  สรรพคุณ ฝาดสมาน

วิธีใช้  ใช้ใบแก่ 10 -15 ใบย่างไฟให้กรอบ ต้มกับน้ำ 1 แก้วใช้ดื่มแทนน้ำ  หรือใช้ผลดิบ 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใสดื่ม

ภาพที่ 5  ฝรั่ง

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  • ทับทิม

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Punica granatum.

ส่วนที่ใช้  เปลือกตากแห้ง  มีสรรพคุณฝาดสมาน มีสารแทนนินและ   กรดแทนนิก

วิธีใช้  ใช้เปลือกที่ตากแห้งแล้ว 1 ใน 4 ของผล  ต้มกับน้ำปูนใส กรองกากออก ใช้เป็นน้ำดื่ม  หรือใช้ครั้งละ 1 กำมือ (ประมาณ 3 -5 กรัม)  ต้มน้ำดื่ม  วันละ 2 ครั้ง      เช้า-เย็น

ภาพที่ 6  ทับทิม

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด  สมุนไพรที่ใช้ได้แก่

4.1   กระเทียม

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Allium sativum L.

ส่วนที่ใช้  หัวใต้ดิน มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้กลากเกลื้อน แก้ไอขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร

วิธีใช้  กระเทียมสดรับประทานครั้งละประมาณ 5-7 กลีบ หลังอาหาร หรือเวลามีอาการ

ภาพที่ 7  กระเทียม

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

4.2   กระเพรา

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ocimum tenuiflorum L.

ส่วนที่ใช้   ใบสดหรือแห้ง มีรสเผ็ดร้อน แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียด

วิธีใช้  ใช้ใบและยอดกะเพรา 1 กำมือ (ถ้าใบสดหนัก 25 กรัม,ใบแห้งหนัก 5 กรัม) ต้มใช้เป็นน้ำดื่ม ใช้ได้ผลดีในเด็ก

ภาพที่ 8  กระเพรา

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  1. อาการคลื่นไส้ อาเจียน สมุนไพรที่ใช้ได้แก่

5.1  ขิง

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Zingiber officinale Rosc.

ส่วนที่ใช้ เหง้าแก่สด รสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน

วิธีใช้  ใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบให้แตกต้มกับน้ำ ใช้ดื่ม

ภาพที่ 9  ขิง

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

 

  1. อาการเบื่ออาหาร สมุนไพรที่ใช้ได้แก่

6.1  บอระเพ็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tinospora crispa L.

ส่วนที่ใช้ เถาหรือต้นสด  มีรสขมจัด เย็น  ใช้ลดไข้  ระงับความร้อน  ช่วยให้อยากอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร

วิธีใช้  ใช้เถาบอระเพ็ดหรือต้นสด ครั้งละ 2 คีบครึ่ง นำมาตำคั้นน้ำดื่มหรือต้ม 3  เอา 1 ดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เมื่อมีอาการไข้ หรือเวลามีอาการเบื่ออาหารหรืออาจใช้ วิธีดองน้ำผึ้ง หรือปั้นเป็นยาลูกกลอน

ภาพที่ 10  บอระเพ็ด

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

  1. แก้ปวดฟัน สมุนไพรที่ใช้ได้แก่

7.1  ผักคราดหัวแหวน

ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Spilanthes acmella (Linn.) Murr.

ส่วนที่ใช้ ดอกสด  รสเผ็ดร้อน  เป็นยาพื้นบ้านใช้แก้อาการปวดฟัน ขับปัสสาวะ แก้บิด ระงับไอ  หรือใช้ต้นสดตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู อมแก้ฝีในลำคอ หรือต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ไข้

วิธีใช้ ใช้ดอกสดปริมาณพอเหมาะกับเกลือ อมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวดฟัน

ภาพที่  11 ผักคราดหัวแหวน

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

14.2.2  สมุนไพรที่ใช้รักษาระบบทางเดินหายใจ

สมุนไพรที่ใช้รักษาระบบทางเดินหายใจ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการไอ ระคายคอจากเสมหะ  ได้แก่

  1. ขิง ใช้เหง้าแก่สดฝนกับน้ำมะนาว หรือใช้เหง้าขิงสด ตำผสมน้ำต้มสุกเล็กน้อย คั้นเอาน้ำและเติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ
  2. มะนาว ใช้เปลือกและน้ำมะนาว  ซึ่งน้ำมะนาวมีสารเคมีหลายชนิดและวิตามินซี กรดในน้ำมะนาวกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำลาย ทำให้ช่องปากชุ่มชื่น  ช่วยให้ชุ่มคอ จะลดอาการไอได้  วิธีใช้ ใช้ผลสดคั้นน้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือทำเป็นน้ำมะนาว ใส่เกลือและน้ำตาลจิบหรือดื่มบ่อยๆ
  3. มะแว้งเครือ ใช้ผลแก่สด โดยนำผลแก่สด 5-10 ผล โขลกพอแหลกคั้นน้ำ ใส่เกลือ รับประทานบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี่ยว ให้ดื่มทั้งน้ำและเนื้อจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ภาพที่ 12  สมุนไพรบรรเทาอาการไอ ระคายคอจากเสมหะ ขิง มะนาว มะแว้งเครือ

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2562)

3  สมุนไพรที่ใช้รักษาระบบทางเดินปัสสาวะ

          สมุนไพรที่ใช้รักษาระบบทางเดินปัสสาวะคือ อาการขัดเบาหรือปัสสาวะขัด  ได้แก่

  1. กระเจี๊ยบ ใช้กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอก มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต เป็นต้น วิธีใช้ นำกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดงตากแห้ง นำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้ 5-10 นาที  รินออกเฉพาะน้ำ  ให้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน  จนกว่าอาการขัดเบาจะหาย   ข้อควรระวัง คือ กระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ถ้าดื่มมากๆ  อาจท้องเสียได้  และผู้ป่วยโรคเก๊าต์    ไม่ควรดื่ม เนื่องจากน้ำกระเจี๊ยบจะไปลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย  ทำให้กรดยูริกตกตะกอนในร่างกายได้

ภาพที่ 13  สมุนไพรบรรเทาอาการขัดเบา กระเจี๊ยบ

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2019)

4  สมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มโรคหรืออาหารทางผิวหนัง ผื่นคัน แมลงสัตว์  กัดต่อย แผลผุพอง

สมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มโรคหรืออาการทางผิวหนัง ผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย แผลผุพอง  ได้แก่

  1. ขมิ้น ใช้เหง้าสดและแห้งยาวประมาณ 2 นิ้วฝนกับน้ำต้มสุก ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการแพ้ คัน อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

 

 

 

 

2.ว่านหางจระเข้ มีสารสำคัญชื่อ aloctin A มีฤทธิ์ลดการอักเสบและช่วยสร้างเนื้อเยื่อ  วิธีใช้ คือนำวุ้นที่ได้จากใบล้างให้สะอาดทาบริเวณที่เป็นแผล แผลไฟไหม้  ผลน้ำร้อนลวก แต่มีข้อเสียคือ สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ไม่ควรทิ้งวุ้นไว้เกิน 24 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

 

3.ใบบัวบก ใช้ต้นและใบสด ช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ  วิธีใช้ คือ นำใบสดปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของแผลมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำทาบริเวณแผล ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจใช้กากพอกด้วยก็ได้

 

 

สมุนไพรรักษากลุ่มโรคหรืออาหารทางผิวหนัง ผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย แผลผุพอง : ขมิ้น ว่านหางจระเข้  ใบบัวบก

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2019)

5  สมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่นๆ

          สมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่พบบ่อย  ได้แก่

  1. ไพล ใช้ส่วนเหง้าที่แก่จัด  จะมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้  แก้ฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอก วิธีใช้ คือนำเหง้าไพลประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำ มาทาถูนวด บริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ  ใช้ประคบร้อนบริเวณที่ปวดเมื่อยและฟกช้ำ ตอนเช้าและเย็น

ภาพที่ 15  สมุนไพรฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอก : ไพล

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2019)

  1. ฟ้าทะลายโจร

ชื่อวิทยาศาสตร์  Andrographis paniculata (Burm.f)

สรรพคุณ จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการหวัด แก้ไอและเจ็บคอ  เป็นสมุนไพรที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2542  กระทรวงสาธารณสุขในรูปยาเดี่ยว  มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี  และพบว่า ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญชื่อว่าสารแอนโดรกราโฟไลค์ (andrographolide) ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ในทุกระยะและช่วยยับยั้งการอักเสบ และยังมีสารประกอบสารแลคโทน (lactone)  4 ชนิด ที่มีฤทธิ์เย็นหนืด ช่วยจับโปรตีนของไวรัสให้อยู่กับที่ ทำให้ฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรต้านไวรัสได้ดียิ่งขึ้น  ปัจจุบันจึงได้มีการนำฟ้าทะลายในรูปแบบต่างๆ  เช่น   ผงบรรจุในแคปซูล  มาใช้ในรักษาอาการโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน (home isolation)  สำหรับปริมาณการรักษา กินครั้งละ 1,500-3,000 มิลลิกรัม จำนวน 4 ครั้ง       ต่อวัน หรือประมาณ 2-4 แคปซูล วันละ 3 มื้อ ระยะเวลา 7-10 วัน (หรือไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์)

ข้อควรระวัง

  • ห้ามกินในผู้ที่แพ้ยาฟ้าทะลายโจรและหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • หากรับประทานแล้วมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเอว เวียนหัว ให้หยุดกินยา
  • ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะฟ้าทะลายโจร มีฤทธ์เป็นยาเย็นจะทำให้มือเท้าชา อ่อนแรง
  • ไม่แนะนำให้กินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโรคโควิด-19 แต่ควรใช้เมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น

 

ภาพที่ 16  ฟ้าทะลายโจร

ที่มา :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2019)